วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551

UNSEEN น้ำตกภูซาง น้ำตกซับอุ่นแห่งเดียวในประเทศไทย

น้ำตกภูซางอยู่ที่กิ่งอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูซาง เป็นน้ำตกชั้นเดียว น้ำตกภูซางมีน้ำตลอดปี อุณหภูมิของน้ำตก ประมาณ 35 องศาเซลเซียส ตั้งอยู่ริมถนนสาย 1093






นอกจากนี้ทางตอนเหนือของน้ำตกภูซางยังมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีจุดเด่นอยู่ที่บ่อซับน้ำอุ่นซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกภูซาง มีลักษณะเป็นธารน้ำอุ่นผุดจากใต้ดิน มีสภาพโดยรอบเป็นพรุน้ำจืด เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณที่หาดูได้ยาก ..

ตัวน้ำตกภูซางอยู่ห่างไปจากที่ทำการอุทยานฯ อีกเพียง 300 เมตร และเส้นทางสายนี้ ( ถนนหมายเลข 1093 ) ยังสามารถเดินทางต่อไปถึง ภูชี้ฟ้า ซึ่งเป็นยอดดอยสูงประมาณ 1,628 เมตร ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ เป็นระยะทาง 45 กิโลเมตร
ทางไปบ่อซับน้ำอุ่น







บ่อน้ำซับอุ่น
บ่อซับน้ำอุ่นจะเป็นตาน้ำที่มีน้ำไหลออกมาตลอดทั้งปีและมีทั้งหมด 3 บ่อ




เส้นทางการเดินทาง
ทางรถยนต์.....ห่างจากกรุงเทพฯ 735 กิโลเมตร สามารถเดินทางเป็นวงรอบได้โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 11 จากอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านตากฟ้า-วังทอง-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-แพร่-ร้องกวาง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 103 ไปอำเภองาว แยกขวาเข้าทาง หลวงหมายเลข 1 เข้าสู่จังหวัดพะเยา
จากจังหวัดพะเยา - อำเภอจุน - อำเภอเชียงคำ - น้ำตกภูซาง 104 กิโลเมตร
จากจังหวัดเชียงราย - อำเภอเทิง - อำเภอเชียงคำ - น้ำตกภูซาง 124 กิโลเมตร

แผนที่ที่ตั้ง




น้ำตกภูซางตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูซาง
อุทยานแห่งชาติภูซาง มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ดินบริเวณป่าน้ำหงาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลตับเต่า ตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ในท้องที่ตำบลภูซาง ตำบลทุ่งกล้วย ตำบลร่มเย็น ตำบลแม่ลาว ตำบลเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขา มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์นานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ป่า และภูเขาที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 285 ตารางกิโลเมตร หรือ 178,125 ไร่

ประวัติความเป็นมา :-เดิมจัดตั้งเป็นวนอุทยานแห่งชาติภูซาง อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ในท้องที่ตำบลภูซาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งกรมป่าไม้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2533 เนื่องจากสำนักงานป่าไม้เขตเชียงราย สำรวจเสนอและกองบัญชาการหน่วยรบเฉพาะกิจ กองพลที่ 4 สนับสนุนให้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน ตามหนังสือที่ กส 0809 (ชร)/1975 ลงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2522 และ กห 0334 (ฉก.พล.)/1819 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 กองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 มีหนังสือที่ นร 5106/2616 ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ให้กรมป่าไม้ จัดตั้งพื้นที่วนอุทยานน้ำตกภูซาง มีเนื้อที่ประมาณ 73,000 ไร่
ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2534 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2534 ทำการสำรวจและเตรียมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1316/2534 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 สั่งการให้ นายจุมพล วนธารกุล นักวิชาการป่าไม้ 5 ไปดำเนินการสำรวจจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ผลการสำรวจพบว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสมจะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ท้องที่ตำบลภูซาง ตำบลทุ่งกล้วย ตำบลร่มเย็น ตำบลเวียง ตำบลแม่ลาว ตำบลฝายกวาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ป่าน้ำหงาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลตับเต่า ตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 186,512 ไร่ ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง 440 - 1,548 เมตร ติดเขตแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร สภาพป่าเป็น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา มีสัตว์ป่าหลายชนิด เจ้าหน้าที่ ททท. ได้แจ้งว่าตามมติที่ประชุมรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2536 ให้ ททท. ประสานงานกับกรมป่าไม้ เพื่อพิจารณาพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติใหม่ กรมป่าไม้จึงมีหนังสือที่ กษ 0721.03/7244 ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2537 เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูซาง สำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่ นร 0204/11694 ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2543 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2543 ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำหงาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลตับเต่า ตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ในท้องที่ตำบลภูซาง ตำบลทุ่งกล้วย กิ่งอำเภอภูซาง อำเภอเชียงคำ และตำบลร่มเย็น ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 98 ก วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543

สภาพภูมิประเทศ :- เป็นเทือกเขาติดชายแดนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความสูงตั้งแต่ 440 - 1,548 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำลาว น้ำหงาย น้ำเปื๋อย น้ำมง น้ำญวน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของอำเภอเชียงคำ

พรรณไม้ :-สภาพป่าโดยทั่วไปประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ ยาง ยางขาว ยางแดง ตะเคียน ยมหอม จำปีป่า จำปาป่า กระบาก ตะแบก มะหาด ประดู่ แดง สัก เสลา ส้าน มะค่าโมง ตะคร้อ สมอพิเภก กระบก ก่อ มะม่วงป่า และไผ่
ตัวอย่างพรรณไม้



สัตว์ป่า :-สัตว์ป่าประกอบด้วย เลียงผา กวาง เก้ง ลิง หมูป่า กระจง ค่าง ชะนี กระต่าย แมวป่า เม่น อีเห็น ชะมด กระรอก หมาใน และ นกชนิดต่างๆ
สุดท้ายในการแนะนำที่ท่องเที่ยวผมอยากบอกว่า..........ท่องเที่ยวไทยไม่ไปไม่รู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น